ReadyPlanet.com
dot
Smart Home
dot
bulletWulian
dot
CCTV SYSTEM ระบบกล้องวงจรปิด
dot
bulletBOSCH
bulletGANZ
bulletSAMSUNG
bulletHI VIEW
bulletHIKVISION
dot
Access Control system ระบบควบคุมการเข้า
dot
bulletGE
bulletHID
bulletNOD
bulletHIP
bulletSOYAL
bulletROGER
dot
Fire Alarm / แจ้งเหตุเพลิงไหม้
dot
bulletGE EDWARDS
bulletNOTIFIER
bulletSYSTEMSENSOR
bulletCEMEN
bulletCL
bulletAIP
bulletMortor Siren
dot
NURES CALL ระบบเรียกพยาบาล
dot
bulletCOMMAX
bulletFORTH
bulletAIPHONE
dot
Sound System
dot
bulletBOSCH
bulletSTAR
bulletYAMAHA
bulletFBT
bulletTOA
bulletINTER-M
dot
Burglar Alarm ระบบกันขโมย
dot
bulletTEXECOM
bulletYALE
bulletGE
dot
โทรศัพท์ตู้สาขา PABX
dot
bulletPANASONIC
bulletFORTH
bulletNEC
dot
ประตูอัตโนมัติ
dot
bulletBARIER ชุดแขนกั้นประตู
bulletAUTO GATE / ประตูอัตโนมัติ
bulletJVPK แขนกั้นประตู
dot
VEDIO DOOR PHONE
dot
bulletCOMMAX
bulletKOCOM
dot
MATV SYSTEM
dot
bulletFracarro
dot
อื่นๆ
dot
bulletไฟฉุกเฉิน / ป้ายบอกทางหนีไฟ
bulletRACK & LAN
bulletหลอดไฟ LED
dot
Downloads
dot
bulletคู่มือ
bulletความรู้เบื้องต้นระบบ CCTV
bulletความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเรียกพยาบาล


ตรวจสอบสถานะ EMS และไปรษณีย์ลงทะเบียน



ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเรียกพยาบาล

 

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเรียกพยาบาล

Introduction to Nurse Call System

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถรัตน์ นาวิกาวตาร     

สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า บัณฑิตวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

19/1 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม. 10160

 

บริษัท ซีคูเทค จำกัด 49/172 หมู่ 5 ถนนพุทธมณฑลสาย 4

เเขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กทม. 10170

E-mail: secutech@hotmail.com

 

1.     บทนำ

2.     การทำงานของระบบเรียกพยาบาล

3.     ประเภทของระบบเรียกพยาบาล

4.     หน้าที่และลักษณะของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ

5.     การติดตั้งระบบเรียกพยาบาล

6.     การซ่อมและดูแลรักษาระบบเรียกพยาบาล

7.     บทสรุป

8.     ประวัติผู้เขียน


1.    บทนำ

          ระบบเรียกพยาบาล คือระบบที่ถูกใช้สำหรับการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเรียกขอความช่วยเหลือและสื่อสารกับผู้ดูแลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ระบบเรียกพยาบาลถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางในสถานพยาบาลเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานของสถานพยาบาล คุณสมบัติของระบบเรียกพยาบาลที่ดีจะต้องง่ายต่อการใช้งาน มีความน่าเชื่อถือสูง โดยมีความต้องการทั่วไปในการติดตั้งระบบเรียกพยาบาล เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยจากห้องผู้ป่วย หรือเตียงผู้ป่วยกับผู้ดูแล หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินจากห้องน้ำของผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การเรียกสามารถทำได้ทั้งการแสดงผลเป็นสัญญาณเสียงและสัญญาณแสง หรือสามารถพูดติดต่อกันได้

          บทความนี้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเรียกพยาบาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจหลักการทำงาน และหน้าที่ของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ โดยหวังให้เกิดประโยชน์ต่อ ผู้ใช้งานผู้ออกแบบ และผู้ซ่อมแซมดูแลรักษาระบบ โดยเนื้อหาจะถูกแบ่งเป็น 8 ส่วน คือส่วนแรกบทนำ ส่วนที่สองจะกล่าวถึงของการทำงานของระบบเรียกพยาบาล ส่วนที่สามกล่าวถึงประเภทของระบบเรียกพยาบาล ส่วนที่สี่จะกล่าวถึงหน้าที่และลักษณะของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ ส่วนที่ห้าจะกล่าวถึงการติดตั้งระบบเรียกพยาบาล ส่วนที่หกจะกล่าวถึงการซ่อมดูแลรักษา ส่วนที่เจ็ดคือบทสรุป และส่วนสุดท้ายคือประวัติผู้เขียน

 

2.    การทำงานของระบบเรียกพยาบาล

พยาบาลหรือผู้ดูแลผู้ป่วยจะรับทราบสัญญาณการเรียกจากเตียงผู้ป่วยหรือห้องน้ำของผู้ป่วยได้จากเครื่องสถานีหลัก (Master Station) ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำงานของพยาบาล หรือโคมไฟที่ติดอยู่ที่หน้าห้องผู้ป่วย (Corridor Lamp)  เมื่อมีการกดเรียกจากผู้ป่วยสัญญาณเสียงที่เครื่องสถานีหลักจะดังขึ้นพร้อมกับสัญญาณไฟ (Call Lamp) หรือตัวเลขแสดงให้ทราบตำแหน่งเตียง

พยาบาลสามารถพูดติดต่อกับผู้ป่วยได้ในกรณีเป็นการเรียกจากเครื่องสถานีย่อย (Sub Station) หรือชุดหัวเตียงที่สามารถโต้ตอบได้โดยการกดปุ่มตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงและยกหูฟังโทรศัพท์ (Telephone Handset) เมื่อมีผู้ป่วยส่งสัญญาณเรียกมา ในระหว่างการสนทนาหากมีการเรียกจากผู้ป่วยเตียงอื่น เครื่องสถานีหลักจะยังสามารถแสดงสัญญาณเรียกได้เพื่อรอการสนทนาในลำดับถัดไป การเรียกพยาบาลจากเตียงผู้ป่วยแสดงดังรูปที่ 1

พยาบาลสามารถเป็นผู้พูดติดต่อไปยังผู้ป่วยได้ในกรณีเป็นชุดหัวเตียงที่สามารถโต้ตอบได้โดยการกดปุ่มเลือกตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงที่ต้องการติดต่อและยกหูฟังโทรศัพท์เพื่อสนทนากับผู้ป่วย และสามารถกดปุ่มเลือกตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงได้หลายปุ่มเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยในลักษณะประกาศให้ผู้ป่วยรับข้อมูลพร้อมกันเป็นกลุ่ม

การคืนสถานะของระบบให้กลับสู่สภาวะปกติ ทำได้โดยการวางหูฟังโทรศัพท์เข้าที่เก็บหรือโดยการกดปุ่มตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงเพื่อคืนสถานะของระบบให้กลับสู่สภาวะปกติ และยังสามารถคืนสถานะของระบบได้จากการกดปุ่มยกเลิกจากชุดหัวเตียง

 

 

  

รูปที่ 1 การเรียกพยาบาลจากเตียงผู้ป่วย

 

กรณีที่ผู้ป่วยส่งสัญญาณเรียกจากห้องน้ำดังรูปที่ 2 ซึ่งถือเป็นการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่เครื่องสถานีหลักจะต้องไม่สามารถยกเลิกการเรียกได้ การคืนสถานะของระบบให้กลับสู่สภาวะปกติจะทำได้โดยการยกเลิกการเรียกที่ตำแหน่งสวิทซ์ฉุกเฉินเท่านั้นเพื่อเป็นการเจาะจงให้พยาบาลเข้าถึงผู้ป่วย

 

 

รูปที่ 2 การเรียกพยาบาลจากห้องน้ำ

 

3.    ประเภทของระบบเรียกพยาบาล

ระบบเรียกพยาบาลสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการรับส่งสัญญาณได้เป็น 3 ประเภท คือระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อกระบบเรียกพยาบาลแบบระบบดิจิตอล และระบบเรียกพยาบาลแบบไร้สาย และยังสามารถแบ่งย่อยตามลักษณะการสื่อสารได้อีก 2 ลักษณะ คือระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบทางเดียว และระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบสองทาง แต่ละแบบจะมีข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป การเลือกใช้จะต้องพิจารณาจากความต้องการของผู้ใช้งานความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ และงบประมาณ 

แบ่งประเภทตามลักษณะการรับส่งสัญญาณได้เป็น 3 ประเภท

3.1      ระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อก

หมายถึงระบบเรียกพยาบาลที่มีรูปแบบการส่งสัญญาณระหว่างเครื่องสถานีหลักกับอุปกรณ์อื่นในระบบ เป็นรูปแบบสัญญาณแบบอนาล็อก (Analog Signal) ซึ่งมีลักษณะสัญญาณแบบต่อเนื่อง (Continuous Data) มีขนาดของสัญญาณไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของสัญญาณแบบค่อยเป็นค่อยไปคล้ายเส้นโค้งต่อเนื่องกันไป ค่าเปลี่ยนแปลงไปของระดับสัญญาณจะมีความหมายต่างกันไป สัญญาณแบบอนาล็อกอาจจะถูกรบกวนได้ง่ายเนื่องจากค่าทุกค่าถูกนำมาใช้งาน ลักษณะเดียวกับสัญญาณเสียงในสายโทรศัพท์ สายสัญญาณสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องสถานีหลักกับชุดหัวเตียง จะถูกเชื่อมต่อเป็นแบบจุดต่อจุด (Point-to-Point)

3.2      ระบบเรียกพยาบาลแบบระบบดิจิตอล

หมายถึงระบบเรียกพยาบาลที่มีรูปแบบการส่งสัญญาณระหว่างเครื่องสถานีหลักกับอุปกรณ์อื่นในระบบ เป็นรูปแบบสัญญาณแบบดิจิตอล (Digital Signal) ซึ่งมีลักษณะสัญญาณแบบไม่ต่อเนื่อง (Discrete Data) ที่มีขนาดแน่นอนซึ่งขนาดดังกล่าวจะเปลี่ยนไปมาระหว่างค่าสองค่า คือสัญญาณระดับสูงสุดและสัญญาณระดับต่ำสุด รูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องสถานีหลักกับอุปกรณ์อื่นในระบบ จะถูกเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย (Network) แบบหลายจุด (Multipoint) เช่นการเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณเพียงแค่ 2 เส้น ในการสื่อสารแบบ RS485 (Recommended Standard no. 485)  หรืออาจจะเชื่อมต่อในลักษณะเดียวกับการสื่อสารในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network) กรณีระบบเรียกพยาบาลมีรูปแบบการสื่อสารเช่นเดียวกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อาจเรียกชื่อระบบว่า ระบบเรียกพยาบาลแบบไอพี (IP Nurse Call)

3.3      ระบบเรียกพยาบาลแบบไร้สาย

ระบบเรียกพยาบาลแบบไร้สาย มีทั้งระบบสื่อสารแบบทางเดียวที่ไม่สามารถโต้ตอบได้ และระบบการสื่อสารแบบสองทางที่สามารถโต้ตอบได้ ทำงานโดยอาศัยคลื่นความถี่ซึ่งจะต้องใช้ย่านความถี่ที่ไม่สร้างปัญหาให้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์เหมาะสำหรับหอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนไม่มากนัก เช่นในบ้านพักที่มีผู้สูงอายุ มีขีดจำกัดเรื่องการเดินทางของสัญญาณสัญญาณรบกวน และการดูแลรักษาระดับแบตเตอรี่ เป็นระบบที่ง่ายต่อการติดตั้งยืดหยุ่นต่อผู้ใช้งาน

แบ่งย่อยตามลักษณะการสื่อสารได้ 2 ลักษณะ

3.4      ระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบทางเดียว

การสื่อสารแบบทางเดียว หรือแบบซิมเพล็กซ์ (Simplex) เป็นการส่งสัญญาณทางเดียวเท่านั้น คือระบบเรียกพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถเรียกขอความช่วยเหลือจากอุปกรณ์เรียกปลายทาง เพื่อส่งสัญญาณมายังเครื่องสถานีหลักได้ทางเดียวเท่านั้น พยาบาลสามารถรับรู้การขอความช่วยเหลือในลักษณะเสียงสัญญาณพร้อมไฟแสดงตำแหน่งหรือตัวเลขเตียงที่เรียกมา แต่จะไม่สามารถส่งสัญญาณใดๆ หรือพูดโต้ตอบกับผู้ป่วยได้ เป็นระบบเรียกพยาบาลขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่ใช้กับหอผู้ป่วยเตียงรวม และห้องน้ำสำหรับผู้ป่วย

3.5      ระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบสองทาง

 การสื่อสารแบบสองทาง หรือแบบฟลูดูเพล็กซ์ (Full Duplex) เป็นการรับส่งสัญญาณได้ทั้งสองทาง อาจเรียกอีกแบบว่า โทรศัพท์ภายใน (Intercom) คือระบบเรียกพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถเรียกขอความช่วยเหลือจากอุปกรณ์เรียกปลายทาง เพื่อส่งสัญญาณมายังเครื่องสถานีหลัก โดยพยาบาลสามารถใช้เครื่องสถานีหลักสำหรับพูดโต้ตอบกับผู้ป่วยได้ ทำให้ทราบความต้องการของผู้ป่วยทำให้การช่วยเหลือทำได้เร็วขึ้น อาจแบ่งได้อีกแบบ คือแบบฮาฟดูเพล็กซ์ (Half Duplex) คือระบบการสื่อสารกึ่งสองทางที่สามารถพูดโต้ตอบกันได้แต่ต้องผลัดกันพูดคล้ายวิทยุสื่อสาร

 

 

4.    หน้าที่และลักษณะของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ

4.1      เครื่องสถานีหลัก (Master Station)

เป็นอุปกรณ์ที่จะถูกติดตั้งไว้บริเวณเคาน์เตอร์พยาบาล ลักษณะการติดตั้งมีทั้งวางบนโต๊ะ และแขวนผนัง มีหน้าที่เป็นอุปกรณ์หลักในการรับรู้การเรียกจากผู้ป่วย ตัวเครื่องสถานีหลักมี 2 รูปแบบ แบบแรก คือเครื่องสถานีหลักที่ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมระบบในตัว และแบบที่สอง คือเครื่องสถานีหลักที่แยกหน่วยตัวควบคุม อาจจำแนกลักษณะตัวเครื่องสถานีหลักจากรูปแบบการแสดงผล เช่น เครื่องสถานีหลักแบบที่มีเฉพาะปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสถานีหลักของระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อกดังแสดงในรูปที่ 3, เครื่องสถานีหลักแบบที่มีจอแสดงผลซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสถานีหลักของระบบเรียกพยาบาลแบบระบบดิจิตอลดังแสดงในรูปที่ 4

เครื่องสถานีหลักจะต้องมีคู่สายหรือจำนวนโซนเพียงพอสำหรับอุปกรณ์เรียกปลายทางสำหรับผู้ป่วยในระบบ เครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อกจะมีช่องสำหรับติดชื่อห้องหรือเตียงผู้ป่วย ส่วนเครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอลอาจจะมีการแสดงผลบนจอภาพ

                                                    

 

 รูปที่ 3 ลักษณะเครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อก                         รูปที่ 4 ลักษณะเครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอล

 

 ตัวเครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อกประกอบด้วย                         ตัวเครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอลประกอบด้วย

 §  Hand set : โทรศัพท์สื่อสาร                                           §  Talk Button : กดปุ่มเพื่อต้องการสื่อสาร

§  Power LED : แสดงสภาวะของแหล่งจ่ายหลัก                       §  Voice : ใช้ปรับระดับเสียงสนทนา

§  Power S/W : สวิตช์เปิด-ปิดระบบ                                     §  Tone : ใช้ปรับระดับเสียงเรียก

§  C-MIC : ไมโครโฟน                                                       §  Speaker : ลำโพง

§  Busy LED : ไฟแสดงสถานะสายไม่ว่าง                                §  LED : ไฟแสดงตำแหน่งเตียงที่มีการเรียกเข้ามา

§  Lock Button : ใช้ในการสื่อสารทางเดียวกับเตียงที่ต้องการ       §  Selection Button : กดปุ่มเพื่อเลือกเตียงที่ต้องการสื่อสาร

เครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อกจะมีจะมีปุ่มกด และไฟแสดงผลจำนานมาก ในขณะที่เครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอลอาจจะมีการแสดงผลบนจอภาพเป็นลักษณะ GUI (Graphical User Interface) และสามารถกดบนหน้าจอ (Touch Screen)สำหรับการควบคุม เครื่องสถานีหลักของบางผลิตภัณฑ์จะสามารถออกรายงานประวัติการเรียกจากผู้ป่วยได้โดยการต่อเครื่องสถานีหลักเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

4.2      เครื่องสถานีย่อย (Sub Station)  

เครื่องสถานีย่อย หรือชุดหัวเตียงเป็นอุปกรณ์ที่จะถูกติดตั้งไว้บริเวณหัวเตียงผู้ป่วย โดยทั่วไปถูกออกแบบให้มีช่องสำหรับต่อสายกดเรียกพยาบาล ในหลายๆ ผลิตภัณฑ์จะใช้เครื่องสถานีย่อยเป็นตัวกระจายสัญญาณไปยังอุปกรณ์โคมไฟและ สวิทซ์เรียกพยาบาลในห้องน้ำ สามารถแยกได้เป็น 2 รูปแบบ แบบแรกเครื่องสถานีย่อยที่ใช้ส่งสัญญาณเรียกพยาบาล ที่สามารถสื่อสารแบบสองทางดังแสดงในรูปที่ 5 ซึ่งมักถูกเลือกใช้ในห้องพิเศษ และแบบที่สอง คือเครื่องสถานีย่อยที่ใช้ส่งสัญญาณเรียกพยาบาลที่ส่งสัญญาณเรียกได้เพียงอย่างเดียวดังแสดงในรูปที่ 6 ซึ่งมักถูกใช้ในหอผู้ป่วยรวม หรือกรณีผู้ป่วยไม่ห่างจากพยาบาลมากนัก

                                              

                                             

     รูปที่ 5 ลักษณะเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบสองทาง        รูปที่ 6 ลักษณะเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบทางเดียว

     ตัวเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบสองทางดังรูปที่ 5            ตัวเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบทางเดียวดังรูปที่ 6
     ประกอบด้วย                                                            ประกอบด้วย

     §  Call lamp : ไฟแสดงสถานะการเรียกพยาบาล

§  Speaker : ลำโพง                                                        

§  Call lamp : ไฟแสดงสถานะการเรียกพยาบาล                       §  Reset Button : ปุ่มยกเลิกการเรียก

§  Call jack : จุดเชื่อมต่อสายกดสัญญาณเรียกพยาบาล               §  Call Button : ปุ่มเรียกพยาบาล         

§  Call Button : ปุ่มเรียกพยาบาล                                        §  Call jack : จุดเชื่อมต่อสายกดสัญญาณเรียกพยาบาล

§  C-MIC : ไมโครโฟน

§  Cancel Button : ปุ่มยกเลิก                 

 

4.3      สายกดเรียกพยาบาล (Call Cord)

เป็นอุปกรณ์ที่จะถูกติดตั้งโดยการเชื่อมต่อกับตัวเครื่องสถานีย่อย มีลักษณะเป็นสายสัญญาณที่ปลายสายมีสวิทซ์ปุ่มกดกระชับมือดังรูปที่ 7 มีความยาวสายที่เหมาะสมเพียงพอที่จะวางไว้ข้างมือผู้ป่วย สายยืดหยุ่น ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป บางผลิตภัณฑ์จะมีหัวต่อเป็นเกลียวป้องกันการดึงให้หลุดได้ง่าย บางผลิตภัณฑ์จะมีหัวต่อเป็นตัวเสียบสามารถดึงให้หลุดได้ การดึงหลุดจะมีสัญญาณเรียกหรือเตือนไปยังเครื่องสถานีหลักเสมือนการเรียกขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วย

ยังมีสายกดเรียกพยาบาลอีกประเภทที่ได้รวมฟังก์ชั่นสื่อสารมารวมสายกดโดยที่ปลายสายจะมีลักษณะเหมือนหูฟังโทรศัพท์ (Hand set) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถสนทนากับพยาบาลได้ชัดเจนยิ่งมีอีกชื่อเรียกว่า ลำโพงข้างหมอน (Pillow Speaker) ดังรูปที่ 8

                             

                                         

               รูปที่ 7 สายกดเรียกพยาบาลข้างมือผู้ป่วย                  รูปที่ 8 สายกดเรียกพยาบาลข้างมือแบบสนทนาได้

 

4.4      สวิทซ์ฉุกเฉิน (Emergency Switch)

สวิทซ์ฉุกเฉินสำหรับเรียกพยาบาลจะถูกติดตั้งไว้ข้างผนังในห้องน้ำข้างสุขภัณฑ์ สวิทซ์ถูกออกแบบให้เป็นชนิดกันน้ำมีสวิทซ์สำหรับกดและมีเชือกความยาวใกล้พื้นสำหรับดึงสำหรับการเรียกขอความช่วยเหลือ เมื่อกดสวิทซ์หรือดึงเชือกที่ตัวสวิทซ์จะมีไฟ LED แสดงผลการทำงาน พยาบาลผู้เข้ามาให้ความช่วยเหลือจะต้อง กดสวิทซ์เพื่อคืนสะถานะของระบบให้เป็นปกติทุกครั้ง การเรียกจากห้องน้ำจะถือเป็นเหตุฉุกเฉินบางผลิตภัณฑ์จะมีสัญญาณไฟและเสียงที่แตกต่างจากการเรียกจากหัวเตียง สวิทซ์ฉุกเฉินถูกแสดงดังรูปที่ 9

 

                                                              

 

รูปที่ 9 สวิทซ์ฉุกเฉิน

 

4.5      โคมไฟหน้าห้อง (Corridor Light) 

โคมไฟหน้าห้องจะถูกติดตั้งไว้หน้าห้องผู้ป่วยเหนือประตูหรือฝ้าแพดานทางเข้าห้องเพื่อให้พยาบาลมองเห็นอย่างชัดเจนปัจจุบันจะเป็นโคมไฟชนิด LED บางผลิตภัณฑ์จะสามรถแสดงผลได้หลายสี เช่นสีเขียวเป็นการเรียกจากหัวเตียง สีแดงเป็นการเรียกจากสวิทซ์ฉุกเฉินในห้องน้ำลักษณะโคมไฟหน้าห้องถูกแสดงดังรูปที่ 10

 

 

รูปที่ 10 โคมไฟหน้าห้อง

 

4.6      จอแสดงผลช่องทางเดิน (Corridor Display)

จอแสดงผลช่องทางเดินจะถูกติดตั้งช่องทางเดินในหอผู้ป่วยเป็นชนิด จอ LED หรือ LCD จะแสดงเลขห้องเลขเตียงเมื่อมีการเรียกจากผู้ป่วย มีขนาดการแสดงผลเพียงพอที่จะสามารถให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่มองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 10 เมตร บางผลิตภัณฑ์จะมี จอ LED หรือ LCD ที่สามารถแสดงสีที่แตกต่างกันออกไปเพื่อบ่งชี้ชนิดของอุปกรณ์เรียก จัดลำดับความฉุกเฉินจากการเรียก ตัวอย่างจอแสดงผลช่องทางเดิน ถูกแสดงดังรูปที่ 11 

 

    

 

รูปที่ 11 จอแสดงผลช่องทางเดิน

 

4.7      อุปกรณ์เรียกพยาบาลแบบอื่นๆ

นอกจากอุปกรณ์เรียกพยาบาลรูปแบต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นยังมีอุปกรณ์เรียกพยาบาลและอุปกรณ์เสริมแบบอื่นๆ อีกหลายรูปแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในระบบ เช่นอุปกรณ์เรียกพยาบาลแบบสวิทซ์เท้า (foot switch), สวิทซ์ลมเป่า (blowing switch), สวิทซ์เสียง (peaking switch), สวิทซ์สัมผัส (touching switch), สวิทซ์จับเคลื่อนไหว (waving a hand switch) และสวิทซ์แสดงตำแหน่ง (present switch)

 

5.    การติดตั้งระบบเรียกพยาบาล

ตำแหน่งการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบเรียกพยาบาลเป็นไปตามหน้าที่ของอุปกรณ์แต่ละตัวยังไม่มีมาตรฐานใดกำหนดไว้อย่างชัดเจน ผู้เขียนบทความจะให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองดังนี้

เครื่องสถานีหลักจะถูกติดตั้งบริเวณจุดรวมตัวของพยาบาลการติดตั้งจะต้องคำนึงถึงความสะดวกในการเข้าถึงตัวอุปกรณ์เป็นหลัก กรณีติดตั้งแบบวางบนโต๊ะความสูงจะเป็นไปตามมาตรฐานของโต๊ะพยาบาล กรณีแขวนผนังจะอยู่ในระดับความสูงจากพื้นช่วง 120-160 เซนติเมตร ควรถูกต่ออยู่กับแหล่งจ่ายไฟที่เชื่อถือได้ เช่นมีระบบสำรองไฟฟ้า และรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ส่วยใหญ่เครื่องสถานีหลักจะเป็นตัวกระจายไฟให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ในระบบ

เครื่องสถานีย่อยจะถูกติดตั้งบริเวณหัวเตียงข้างขวาของผู้ป่วยที่ความสูงอยู่ในช่วง 120-140 เซนติเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกในการต่อสายกดเรียกพยาบาล ทั้งนี้อาจจะมีอุปสรรคต่างๆ เช่นอุปกรณ์ก๊าซทางการแพทย์ ที่ทำให้ไม่สามารถติดตั้งในตำแหน่งดังกล่าวได้ตำแหน่งติดตั้งอาจเปลี่ยนไปเป็นหัวเตียงอีกข้างหนึ่ง หรือข้างเตียงก็ได้ ให้ยึดถือความสะดวกต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ

สวิทซ์ฉุกเฉินจะถูกติดตั้งให้ห้องน้ำใกล้โถส้วมบริเวณผนังข้างขวา ความสูงจากพื้นช่วง 120-160 เซนติเมตร ในการติดตั้งสวิทซ์ฉุกเฉินเชือกสำหรับดึงเรียกขอความช่วยเหลือควรจะมีความยาวใกล้พื้นความสูงจากพื้นถึงปลายสายดึง ไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานดึงได้ในกรณีล้มลง สวิทซ์ฉุกเฉินยังสามารถติดตั้งได้ในตำแหน่งใกล้สุขภัณฑ์อื่นเช่น อ่างล้างมือ หรือบริเวณที่อาบน้ำ โดยระยะการติดตั้งจะปรับเปลี่ยนไปตามประโยชน์ที่คาดหวังจะได้รับในตำแหน่งนั้นๆ แต่จะต้องหลีกเลี่ยงติดตั้งในตำแหน่งที่จะถูกน้ำแบบตรงตัว

โคมไฟหน้าห้องถูกติดตั้งบริเวณเหนือประตูทางเข้าห้องผู้ป่วยในระยะสูงจากวงกบประตู ในช่วง 10-20 เซนติเมตรและยังสามารถติดตั้งแบบยึดติดกับฝ้าแพดานได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามในการติดตั้งโคมไฟต้องประเมินตามพื้นที่นั้นๆ โดยยึดหลักการมองเห็นได้อย่างชัดเจนของพยาบาล ในกรณีที่การแสดงผลเป็นจอแสดงเลขห้องเลขเตียงจะติดตั้งแบบยึดติดกับฝ้าแพดานบริเวณทางเดิน


การเดินสายและขนาดสายเป็นไปตามคู่มือการติดตั้งของแต่ละผลิตภัณฑ์ อาจจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ คือระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อกดังแสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในรูปที่ 12 และระบบเรียกพยาบาลแบบดิจิตอลดังแสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในรูปที่ 13 การเชื่อมต่อสายในลักษณะที่ไม่มีขั้วต่อสายหรือหัวต่อให้ใช้วิธีบัดกรีแล้วสวมด้วยท่อหดลนไฟเพื่อลดปัญหาของระบบในระบบสื่อสารทุกจุดต่อคือจุดเสี่ยงระบบที่มีจุดต่อน้อยปัญหาก็จะน้อย สิ่งที่ไม่ควรมีคือจุดต่อของสายในระหว่างทาง

 

 


รูปที่ 12 แสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อก

 

 

 

 

รูปที่ 13 แสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในระบบเรียกพยาบาลแบบดิจิตอล

 

6.    การซ่อมและดูแลรักษาระบบเรียกพยาบาล

ระบบเรียกพยาบาลเป็นระบบที่มีความสำคัญมากสำหรับการดูแลผู้ป่วยหากระบบมีความบกพร่องทำให้พลาดโอกาสในการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันต่อเหตุการณ์ การดูแลรักษาเชิงป้องกัน (preventive maintenances) เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ระบบพร้อมใช้งานตลอดเวลา และลดการซ่อมในแบบเร่งด่วน การดูแลรักษาเชิงป้องกันควรทำในทุกๆ เดือน โดยมีขั้นตอนหลัก คือการตรวจสอบการใช้งานได้ของอุปกรณ์แต่ละตัวตรวจวัดหน่วยจ่ายไฟฟ้าของระบบ และทำความสะอาดอุปกรณ์

ข้อแนะนำการซ่อมระบบเรียกพยาบาลในกรณีระบบใช้งานไม่ได้ ให้เริ่มตรวจสอบจากหน่วยจ่ายไฟฟ้าของระบบ ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อใช้งานในระบบ ซึ่งใช้ไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันต่ำเช่น 12 VCD หรือ 24 VDC เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานแหล่งจ่ายไฟฟ้าของระบบอาจจะอยู่ในเครื่องสถานีหลัก หรือจะมีหน่วยจ่ายไฟฟ้าแยกส่วนขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ ระบบไฟฟ้าสำหรับระบบเรียกพยาบาลควรมีหน่วยสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply: UPS) เพื่อให้สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยป้องกันความเสียหายที่สามารถเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ หากหน่วยจ่ายไฟฟ้ายังทำงานปกติดีอยู่ให้อุปกรณ์ตรวจสอบเครื่องสถานีหลักเครื่องสถานีย่อย และอุปกรณ์ปลายทางอื่นๆ ต่อไป ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีอุปกรณ์ที่น่าสงสัยว่าจะมีปัญหาอาจใช้วิธีสลับตำแหน่งเพื่อยืนยันความเสียหาย หากยังไม่พบสาเหตุให้ลองปลดอุปกรณ์ปลายทางทีละตัวจนกว่าจะพบปัญหาของระบบ

 

7.    บทสรุป      

 เนื้อหาตามหัวข้อข้างต้นเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ ผู้เขียนบทความนำเสนอจากประสบการณ์ของผู้เขียน โดยผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการสำหรับเรื่องนี้มากนัก เรื่องมาตรฐานการติดตั้งก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนระบุไว้อย่างเจาะจงชัดเจน ในปัจจุบันระบบเรียกพยาบาลถูกใช้ในวงกว้าง ทั้งโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณะสุขทั่วประเทศโรงพยาบาลภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยโรงพยาบาลเอกชนต่างๆสถานีอนามัยบ้านพักคนชรา และบ้านพักอาศัย โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ในประเทศเช่น COMMAX, AIPHONE, AUSTCO, FORTH และ CARECOM เป็นต้น ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องกับระบบเรียกพยาบาล ให้ผู้ใช้งานใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ให้ผู้ออกแบบเลือกรูปแบบลักษณะของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ให้ผู้ติดตั้งระบบมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบ ให้ผู้ดูแลระบบมีแนวทางในการซ่อมบำรุงรักษา

 

8.    ประวัติผู้เขียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถรัตน์ นาวิกาวตาร

: อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ งานวิจัยที่สนใจ ระบบไฟฟ้า-สื่อสารระบบควบคุม และการประยุกต์อภิศึกษาสำนึก

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคูเทค จำกัด

ดำเนินกิจการเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า-สื่อสาร เช่นระบบทีวีรวมระบบเรียกพยาบาลระบบโทรทัศน์วงจรปิดระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ระบบควบคุมการเข้า-ออกระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายระบบภาพและเสียงระบบโทรศัพท์ และระบบไฟฟ้า

ใบประกอบวิชาชีพ

: ระดับสามัญวิศวกร สาขา วิศวกรรมไฟฟ้างานไฟฟ้ากำลัง สฟก.4972

ปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง